ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (Margarine) หรือเนยขาว (Shortening) ซึ่งไขมันหรือน้ำมันดังกล่าวจะเก็บรักษาได้นานขึ้น ไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไขง่าย และทนความร้อนได้สูงขึ้น นอกจากนี้กรดไขมัน ทรานส์ยังเกิดจากการใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร เช่น การทอด การอบ เป็นต้น ดังนั้น จึงสามารถพบไขมันทรานส์ได้ในอาหารทอด ขนมขบเคี้ยว และขนมอบต่างๆ
ไขมันทรานส์อันตรายอย่างไร
ไขมันทรานส์ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรค หัวใจ มะเร็งเต้านม โรคตับ เนื่องจากการบริโภคไขมันทรานส์จะก่อให้เกิดให้ผลร้ายกว่ากรดไขมันอิ่มตัว คือ ทำให้ระดับคอเลส เตอรอลรวม (Total Cholesterol) ไขมันชนิดไม่ดี (LDL-Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เพิ่มขึ้น และทำให้ระดับไขมันชนิดดี (HDL-Cholesterol) ลดลง นอกจากนี้ยังทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและเกิดไขมันส่วนเกิน รวมทั้งอาจทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย
ไขมันทรานส์รับประทานได้หรือไม่
องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) แนะนำให้บริโภคไขมัน ทรานส์ไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) รวมทั้งการบริโภคไขมันอิ่มตัว ไม่ควรเกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) เนื่องจากไขมันทั้งสองประเภทเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงต้องควบคุมปริมาณการบริโภคร่วมกัน
5 วิธีเลี่ยงไขมันทรานส์
1.อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่มี Partially Hydrogenated or Hydrogenated Oil
2.เลือกใช้เนยเทียมชนิดที่ไม่แข็งมากหรือชนิดเหลวแทนเนยเทียมชนิดแข็ง เพราะยิ่งมีความแข็งมาก ก็ยิ่งมีไขมันทรานส์มาก
3.ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ติดมัน
4.เน้นการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น
5.เลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก
ข้อมูลอ้างอิง
-นายณัฏฐากรรธ์ ลอยเลิศ . ไขมันทรานส์ทำไมถึงอันตราย . ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งข้อมูล : https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-296 . ค้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564.